ไม่ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงหรือต่ำ ย่อมมีผลกระทบต่อผลตอบแทนที่แท้จริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงถือได้ว่าเงินเฟ้อเป็นศัตรูสำคัญอย่างหนึ่งของการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องวางกลยุทธ์ด้วยการเลือกสินทรัพย์ลงทุนให้สอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สามารถชนะเงินเฟ้อได้และอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ในช่วงปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากจะส่งผลต่อระดับราคาสินค้าที่ปรับขึ้นและการใช้จ่ายของผู้คน ยังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและตามมาด้วยความผันผวนด้านการลงทุน ทำให้ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนตั้งคำถามว่า เงินเฟ้อที่ปรับขึ้นมาจากสาเหตุอะไรและแนวโน้มจะเป็นอย่างไร
เงินเฟ้อโลกสูง เป็นผลมาจากการกลับมาบริโภคสินค้าและบริการทั่วโลกอย่างรวดเร็วหรืออุปสงค์ล้นตลาด (Demand Push) ภายหลังจากการอัดอั้นมาจากช่วงวิกฤติ COVID-19 ขณะที่ภาคการผลิต การขนส่ง และตลาดแรงงานปรับตัวไม่ทัน และถึงแม้ว่าเงินเฟ้อโลกเริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัว (หาคนทำงานยาก) การบริโภคยังแข็งแรง ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัว ประเมินว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงอยู่ไปอีกสักระยะ
เมื่อประเมินว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป คำถามตามมา คือ ควรลงทุนอะไรดี คำตอบคือ ต้องพิจารณาว่าเงินเฟ้อมีผลต่อสินทรัพย์ลงทุนอย่างไร
หุ้น
จากข้อมูลสถิติย้อนหลังของ Kenneth R. French Data Library พบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ปี 1947 – 2021 พบว่าหากเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0 – 5% จะให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (หลังหักเงินเฟ้อ) 0.90% ต่อเดือน (ประมาณ 12% ต่อปี) หรือหากเงินเฟ้อสูงกว่า 5 – 10% จะให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (หลังหักเงินเฟ้อ) 0.40% และหากเงินเฟ้อสูงกว่า 10% จะให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (หลังหักเงินเฟ้อ) 0.10% ต่อเดือน
หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ควรลงทุนหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) เช่น กลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะได้รับผลดีจากภาวะต้นทุนทางการเงินต่ำ สนับสนุนราคาพื้นฐานของบริษัทที่เน้นการเติบโตได้ดี ตรงกันข้ามหากเงินเฟ้อสูง ควรลงทุนหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) เช่น กลุ่มสินค้าจำเป็น โรงพยาบาล โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ตราสารหนี้
จากข้อมูลสถิติย้อนหลังของ Allianz Global Investors ปี 1971 – 2021 พบว่าหากเงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ระดับตั้งแต่ 2% และมากกว่า 8% ตราสารหนี้กลุ่มพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี จะให้ผลตอบแทนประมาณ 2 – 3% ต่อปี และหากเงินเฟ้ออยู่ระดับ 2 – 8% ตราสารหนี้กลุ่มพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 1- 5 ปี จะให้ผลตอบแทนประมาณ 8 – 13% ต่อปี ส่วนตราสารหนี้เอกชนกลุ่ม Investment Grade จะให้ผลตอบแทนประมาณ 6 – 8% ต่อปี เนื่องจากการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้นที่ผลตอบแทนหน้าตั๋วไม่สูง อาจทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) หลังหักเงินเฟ้อน้อยลงหรือติดลบได้ รวมถึงหลังจากเงินเฟ้อชะลอลง หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับลดลง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ โดยดอกเบี้ยจ่าย (Coupon) ประกอบด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งถูกกำหนดไว้คงที่ และดอกเบี้ยจ่ายซึ่งขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อในช่วงนั้น รวมถึง เงินต้นยังได้รับการปกป้องจากเงินเฟ้อให้มีอำนาจซื้อเท่าเดิมด้วย โดยจะปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่วนดอกเบี้ยจ่ายจะปรับเพิ่มหรือลดลงตามเงินเฟ้อ และจ่ายเป็นร้อยละของเงินต้นที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
กอง REIT
หากพิจารณาข้อมูลของ FTSE NAREIT All Equity REIT Index ปี 1972 – 2021 พบว่าหากเงินเฟ้อต่ำกว่า 2.5% ผลตอบแทนจากการลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real estate investment trust) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กอง REIT อยู่ที่ระดับประมาณ 10% ต่อปี (ผลตอบแทนจากกำไรราคาตลาดและเงินปันผล) หากเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 2.5 – 7.0% ผลตอบแทนจะอยู่ระดับประมาณ 16% ต่อปี และเมื่อเงินเฟ้ออยู่สูงกว่า 7% ผลตอบแทนจะอยู่ระดับประมาณ 13% ต่อปี
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าผลตอบแทนของกอง REIT ในอดีตจะน่าสนใจ แต่ในปัจจุบันพบว่า REIT รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผลตอบแทนไม่น่าประทับใจ จึงไม่สามารถทนทานต่อภาวะเงินเฟ้อได้ดีนัก ปัจจัยสำคัญมาจากความกังวลว่าเศรษฐกิจจะมีโอกาสถดถอย ประกอบกับพฤติกรรมการทำงานที่บ้านยังคงมีต่อไปนับตั้งแต่ช่วง COVID-19 ส่งผลให้กอง REIT หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูงและลงทุนในระยะยาวได้
สินค้าโภคภัณฑ์
ในที่นี้มองเป็นกลุ่มสินทรัพย์ ไม่ใช่เฉพาะทองคำ หรือน้ำมันเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งของเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้น ข้อมูลในอดีตจะค่อนข้างสอดคล้องกันว่า เมื่อเงินเฟ้อมา ราคาสินทรัพย์กลุ่มนี้ก็จะขึ้นตามไปด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วงของการ “ชะลอลง” มากกว่าร้อนแรงขึ้น ดังนั้นกลุ่ม Commodities ที่มีค่า Correlation กับเงินเฟ้อที่ 0.30 และมี Beta ที่ 4.4 อาจเป็นปัจจัยกดดันราคาในช่วงนี้ได้ (เคลื่อนไหวไปทางเดียวกัน) อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนต้องการกระจายความเสี่ยงอาจลองพิจารณาเป็นการผสมระหว่าง ทองคำ 50% ที่โดยกลไกความจำกัดของอุปทานช่วยป้องกันผลของเงินเฟ้อ ผสมกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน พลังงาน หรือ โลหะอุตสาหกรรม 50% ก็อาจเป็นสัดส่วนที่สร้างผลตอบแทนต่อปีได้ถึง 9% และช่วยบริหารความผันผวนของพอร์ตลงทุนโดยรวมได้เช่นกัน (ไม่แนะนำให้ลงทุนทั้งจำนวนแบบ 100% ในสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะจะผันผวนมาก อาจลงทุนเพียง 5% ของพอร์ตลงทุนโดยรวม)
ทองคำ
เงินเฟ้อถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกับราคาทองคำโดยตรง โดยเมื่อเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเช่นเดียวกันเมื่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลงและอยู่ในระดับต่ำ ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับลดลงตามไปด้วย
ข้อมูลจาก Bloomberg พบว่าเมื่อมองย้อนกลับไปในเดือนมกราคมปี 1971 – ธันวาคมปี 2022 ผลตอบแทนจากทองคำเฉลี่ย 7.78% ต่อปี สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เฉลี่ย 3.70% ต่อปี และที่น่าสนใจไปกว่านั้นในปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทองคำให้ผลตอบแทนเป็นบวก เช่น วิกฤติดอทคอม (ปี 2001) ทองคำให้ผลตอบแทน 24%, วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2008) ทองคำให้ผลตอบแทน 60% หรือวิกฤติ COVID-19 (ปี 2020) ทองคำให้ผลตอบแทน 7%
โดยสรุป ในช่วงเงินเฟ้อสูงและมีแนวโน้มทรงตัวระหว่าง 3 – 4.5% ไปอีกประมาณ 1 ปี ควรลงทุนหุ้นและตราสารหนี้ ขณะเดียวกันก็ลงทุนทองคำ เพื่อลดความผันผวนจากเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีและเอาชนะเงินเฟ้อได้ แต่ขออย่างเดียว คือ ต้องไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรง (Hard Landing) มาสร้างเซอร์ไพร์สและความแปลกใจให้กับนักลงทุน